เครื่องเชื่อมมีกี่ประเภท มีการบำรุงรักษาหลังการใช้อย่างไร

เครื่องเชื่อม คือเครื่องที่ใช้สำหรับเชื่อมเหล็กให้ติดกัน เพื่อทำเป็นโครงสร้างบ้าน หรือทำเป็นโครงสร้างประตูรั่วต่าง ๆ ที่ใช้เหล็กในการสร้าง สำหรับการปรับกระแสไฟในงานของการเชื่อมไฟฟ้า ของการเชื่อมโลหะหรือเหล็ก โดยเครื่องเชื่อมไฟฟ้ามีขั้นตอนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ ซึ่งก็คือการปรับระดับกระแสของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า และปัจจัยที่กำหนดระดับการปรับกระแสไฟฟ้าเครื่องเชื่อมไฟฟ้า คือ ความหนาของชิ้นงาน ,ลักษณะงาน และชนิดของลวดเชื่อม  ซึ่งหากมีการปรับกระแสสูงเกินไปจะทำให้บ่อหลอมละลายกว้าง ลึก ไม่สม่ำเสมอควบคุมแนวเชื่อมได้ยาก เกิดรอยแหว่งที่ขอบรอยเชื่อมซึ่งเรียกว่า Undercut หากมีการปรับกระแสที่ต่ำเกินไปจะทำให้เกิดรอยนูนบริเวณขอบรอยเชื่อมได้ เพราะลวดเชื่อมกับชิ้นงานไม่สามารถหลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกันได้

ประเภทของตู้เชื่อมที่ผู้ใช้ควรรู้มีประเภทไหนบ้าง

ตู้เชื่อมหรือเครื่องเชื่อม เป็นเครื่องสำหรับงานช่างประเภทงานเชื่อม ซึ่งงานเชื่อมเป็นการเชื่อมด้วยไฟฟ้า โดยการผสมผสานระหว่างโลหะเข้าด้วยกันหรือติดกัน เป็นเครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรงให้กับช่างเชื่อมในการเชื่อมโลหะ หรือเหล็ก โดยวิธีการทำงานของ ตู้เชื่อมไฟฟ้าจะใช้ความร้อนที่เกิดจากการอาร์กของไฟฟ้าหลอมให้โลหะหรือเหล็กติดกัน และประเภทของตู้เชื่อมที่ผู้ใช้ควรรู้ก่อนจะใช้มีดังนี้

1. ตู้เชื่อมอาร์กอน หรือตู้เชื่อม TIG มีทั้งแบบเชื่อมอาร์กอนเพียงระบบเดียว และแบบเชื่อมอาร์กอนกับเชื่อมระบบอื่น ได้แก่ ตู้เชื่อม 2 ระบบ คือเชื่อมอาร์กอน และเชื่อมธูปหรือทั่วไปเรียกกันว่าเชื่อมเหล็ก กับตู้เชื่อม 3 ระบบ คือ เชื่อมอาร์กอน เชื่อมธูป และเชื่อมอลูมิเนียมหรือระบบ AC ที่เราเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ตู้เชื่อมระบบ AC/DC ตู้เชื่อมอาร์กอนที่มี 2 ระบบ จะมีสวิตช์เปลี่ยนระบบเชื่อม TIG และ ARC ถ้าเราเชื่อม TIG สายดินจะอยู่ที่ขั้ว (+) สายเชื่อมจะอยู่ที่ขั้ว (-)  แต่เมื่อเรานำมาเชื่อมไฟฟ้าหรือเชื่อมธูป สายดินจะต้องเปลี่ยนมาใส่ที่ขั้วลบ (-) และสายเชื่อมจะต้องไปอยู่ที่ขั้วบวก (+) แทน

2. ตู้เชื่อมอินเวอร์เตอร์ หรือเครื่องเชื่อมไฟฟ้า (ARC/MMA) เป็นตู้เชื่อมที่เชื่อมเหล็กด้วยธูปเชื่อม ลักษณะตู้เชื่อมอินเวอร์เตอร์จะมีราคาถูก สามารถเชื่อมได้ทั้งงานเหล็ก, สแตนเลส ตู้เชื่อมอินเวอร์เตอร์บางรุ่นอาจเชื่อมอลูมิเนียมได้ ถ้าเป็นเครื่องที่มีกระแสเชื่อมสูงประมาณ 200 แอมป์ขึ้นไป การเชื่อมไฟฟ้าควรเลือกใช้ลวดเชื่อม และปรับกระแสเชื่อมให้เหมาะสมกับงานเชื่อมแต่ละชนิด ตู้เชื่อมอินเวอร์เตอร์เป็นที่นิยมใช้งานในปัจจุบันมากกว่าตู้เชื่อมระบบหม้อแปลงไฟฟ้า ที่มีน้ำหนักมาก และเคลื่อนย้ายลำบาก

3. เครื่องเชื่อม CO2 หรือที่ช่างเรียกกันว่าตู้เชื่อม MIG  เป็นเครื่องเชื่อมที่ใช้วิธีการป้อนเนื้อลวดลงที่ชิ้นงานโดยอัตโนมัติจากเครื่องเลย ซึ่งเครื่องเชื่อม CO2 ชนิดนี้อาจจะใช้แก๊สผสมด้วยคาร์บอนก็ได้ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่ต้องการเชื่อม ข้อแตกต่างจากการเชื่อมอาร์กอน คือ เครื่องเชื่อม CO2 จะใช้ก๊าซ CO2 และไม่ต้องใช้คนป้อนลวดเหมือนเชื่อมอาร์กอน เชื่อมได้ทั้งเหล็ก สแตนเลสและอะลูมิเนียม แล้วแต่ลวดที่ป้อนจะเชื่อมชิ้นงาน ส่วนจะเชื่อมอะลูมิเนียม ก็ต้องมีการเปลี่ยนท่อนำลวด

4. เครื่องตัดพลาสม่า (Plasma) หรือเครื่องตัด CUT เป็นตู้เชื่อมที่ต้องต่อกับปั๊มลม ใช้ลมช่วยในการตัด เครื่องตัดพลาสม่าสามารถตัดชิ้นงานที่เป็นโลหะได้ทุกชนิด แต่ความหนาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความแข็งและเหนียวของโลหะ ซึ่งงานเหล็กจะตัดได้ความหนามากที่สุดรองลงมาคือสแตนเลส และอลูมิเนียม ตามลำดับ

ลวดเชื่อม ที่ช่างเชื่อมใช้มีกี่ชนิด

ลวดเชื่อม แบ่งออกได้เป็น 6 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ลวดเชื่อมธูป หรือ ลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลั๊กซ์ (Covered Welding Electrode)

เป็นลวดเชื่อมที่ด้านนอกจะมีสารเคลือบฟลั๊กซ์ (Flux) มีลักษณะคล้ายธูป ด้านในเป็นลวดโลหะ ซึ่งลวดโลหะมีอยู่หลายชนิด เช่น ลวดเชื่อมเหล็ก และ ลวดเชื่อมสแตนเลส สามารถเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับประเภทของชิ้นงานที่ต้องการเชื่อม เป็นลวดเชื่อมที่นิยมใช้งานกันมากในหมู่ช่างเชื่อม อุปกรณ์และเส้นลวดเชื่อมมีราคาไม่แพง มีหลายขนาดให้เลือกใช้งาน ตั้งแต่ 2.0 , 2.6 , 3.2 , 4.0 และ 5.0

2. ลวดเชื่อมไส้ฟลักซ์ (Flux Cored Wire)

เป็นลวดเชื่อมโลหะแบบเป็นม้วน ลวดมีแกนกลวงบรรจุด้วยสารพอกอยู่ภายในลวด ต่างจากลวดเชื่อมธูปไฟฟ้า (Welding Electrode) ที่สารพอกจะอยู่ภายนอกลวดเชื่อม ลวดเชื่อมไส้ฟลักซ์ (Flux Cored Wire) มีราคาค่อนข้างสูง แต่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อมได้รวดเร็วและสวยงาม

3. ลวดเชื่อมมิก/แมก (MIG/MAG) หรือ ลวดเชื่อม CO2 (MIG Welding Wire)

เป็นลวดเชื่อมโลหะแบบเปลือย เปลือกไม่มีสารพอกหุ้มภายนอก มีลักษณะเป็นม้วน ข้อดีคือเชื่อมได้เร็ว ต้องใช้แก๊สซีโอทู Co2 (แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์) ปกคลุม ใช้ในอุตสาหกรรมงานประกอบเหล็กทั่วไป งานอุตสาหกรรมรถยนต์ และงานโครงสร้างทั่วไป

4. ลวดเชื่อมทิก หรือ ลวดเชื่อมอาร์กอน (Tig Welding Rod)

เป็นลวดเชื่อมเปลือยมีลักษณะคล้ายลวดเชื่อมมิก แต่จะเป็นแบบเส้นตรง แต่ละเส้นมีความยาวประมาณ 1 เมตร นิยมใช้กับงานเชื่อมที่มีความละเอียด มีทั้งที่เป็น เหล็ก อลูมิเนียม สแตนเลส (308L , 309L , 310L , 316L) ทองเหลือง และโลหะอื่น ๆ มีขนาดตั้งแต่ 1.6 , 2.0 , 2.4 และ 3.2 มม.

5. ลวดเชื่อมเซาะร่อง หรือ ลวดเชื่อมเกาจ์ (Gouging Electrode)

เป็นลวดเชื่อมชนิดกลมแบบพิเศษ สำหรับงานเซาะร่องโลหะ ตัดโลหะ กำจัดเนื้อโลหะที่เชื่อมไม่ได้คุณภาพให้ออกจากชิ้นงาน และสามารถใช้ทำความสะอาดแนวเชื่อมสำหรับเตรียมชิ้นงานก่อนเชื่อม โดยใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้า

6. ลวดเชื่อมพิเศษ

เป็นลวดเชื่อมที่แบ่งกลุ่มออกมาเพื่อใช้งานเฉพาะ เช่น ลวดเชื่อมทนแรงดึงสูง , ลวดเชื่อมพอกผิวแข็ง , ลวดเชื่อมอินโคเนล , ลวดเชื่อมไฟฟ้าอลูมิเนียม , ลวดเชื่อมนิกเกิลอัลลอยด์ , ลวดเชื่อมไฟฟ้าทองแดง และ ลวดเชื่อมประสาน เป็นต้น

การบำรุงรักษาเครื่องเชื่อมไฟฟ้าทำได้อย่างไร

การบำรุงรักษาเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ควรตรวจระดับและความชื้นของน้ำมันหล่อเย็นในหม้อแปลง ตรวจดูเศษฝุ่น ผงละอองโลหะต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจรอยรั่วของกระแสไฟ  การเก็บเครื่องเชื่อมไฟฟ้า คือต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมหรืออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือแออัดคับแคบเกินไป  ที่สำคัญต้องป้องกันไม่ให้เครื่องเชื่อมไฟฟ้ามีความร้อนเกินขนาด และควรตรวจสอบด้วยเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าเพื่อให้มั่นใจว่าขนาดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ไม่เกินพิกัดของเครื่องเชื่อมไฟฟ้าและสายเชื่อม ก็ควรหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมืออยู่เสมอ ไม่ดัดแปลงสภาพของตัวเครื่องเชื่อมไฟฟ้าหรือชุดอุปกรณ์สายเชื่อม-สายดิน ต้องแน่ใจว่าที่เครื่องเชื่อมมีที่ระบายอากาศและพัดลมระบายความร้อนในตัว และต้องใช้งานได้